วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ภาษีคณะบุคคล

วันที่ 27 เมษายน 2552 เวลา 00:00 น. เดลินิวส์
ภาษีคณะบุคคล

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากรนั้น นอกจากผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา รวมทั้งผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี และกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่งแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้ผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ

คณะบุคคลที่ มิใช่นิติบุคคล เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดคำนิยามคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ไว้อย่างไร การจัดตั้งจึงกระทำได้โดยสัญญา ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ดังนั้น การประกอบกิจการร่วมกันในฐานะของคณะบุคคลตามประมวลรัษฎากรจะต้องเป็นกรณีที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน โดยในการประกอบกิจการในฐานะคณะบุคคลนั้นจะต้องร่วมกันประกอบกิจการตามความเป็นจริงและร่วมกันรับผิดชอบในกิจการของคณะบุคคลนั้น และเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการจะต้องเป็นของคณะบุคคลด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรได้เคยวินิจฉัยถึงความแตกต่างของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลกับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลในส่วนที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ คือ

การมีวัตถุประสงค์ที่จะหากำไรและแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการอันเป็นเงื่อนไขสำคัญของห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่คณะบุคคลไม่มี คณะบุคคลมีสิทธิประกอบกิจการใดก็ได้ เว้นแต่โดยสภาพของหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำนั้นคณะบุคคลไม่อาจกระทำได้ เช่น การรับจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น

คณะบุคคลเป็นหน่วยภาษีที่ถูกกำหนดขึ้นตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้ครอบคลุมการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงกระทำกิจการร่วมกัน โดยให้ผู้จัดการหรือผู้อำนวยการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลนั้น จากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้น เสมือนเป็นบุคคลเดียวไม่มีการแบ่งแยก ทั้งนี้ ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคน ไม่ต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีอีก (มาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร) นอกจากนี้ เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลในคณะบุคคลได้รับจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เฉพาะส่วนที่เกิดจากเงินได้ที่ได้เสียภาษีเงินได้ไว้ดังกล่าวให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษี (มาตรา 42(14) แห่งประมวลรัษฎากร).


ภาษีคณะบุคคล (2)

การจัดตั้งคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เพื่อการประกอบกิจการนั้น จะเป็นเสรีภาพตามกฎหมายที่กลุ่มบุคคลจะกระทำการได้ แต่ก็มีขอบเขตหรือโดยพื้นฐานแล้วควรเป็นไปโดยสุจริต และมีการประกอบกิจการจริง มิใช่เป็นไปเพื่อการทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือทำให้ไม่ต้องเสียภาษีอากร และหากภายหลังมีการตรวจสอบพบว่า ไม่อยู่บนพื้นฐานดังกล่าว กรมสรรพากรอาจทำการประเมินย้อนหลัง และเสียหายไม่คุ้มกับจำนวนภาษีที่ประหยัดได้

ดังตัวอย่างต่อไปนี้ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ทำการตรวจสภาพกิจการของ คณะบุคคล พบว่า มีการจัดตั้งคณะบุคคลจำนวนหกคณะ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ประกอบกิจการประเภทเดียวกัน และมีผู้จัดการคณะบุคคลคนเดียวกัน

ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน คณะบุคคลฯ ทั้งหกคณะประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง โดยมีนาย จ. เป็นผู้จัดการคณะบุคคล ในปี 2548 คณะบุคคลทั้งหกคณะได้เข้าทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับบริษัท ก. จำกัด ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง จำนวน 10 หน่วย มูลค่างานเป็นเงิน 9,500,000 บาท ซึ่ง มีผลทำให้แต่ละคณะมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (รายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท)

แต่โดยที่มีการทำสัญญาฉบับเดียวกันและมีผู้ว่าจ้างรายเดียวกัน จึงเป็นกรณีที่คณะบุคคลทั้งหกคณะมีเจตนาร่วมกันในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว แม้ว่าในรายละเอียดการเบิกเงินตามเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างจะมีการระบุรายละเอียดงานและจำนวนเงินงวดตามคณะบุคคล

แต่สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเป็นสัญญาที่ตกลงจ้างคณะบุคคลทั้งหกคณะ มิได้กำหนดว่าจ้างเป็นรายคณะบุคคลและ

การดำเนินการก่อสร้างก็ไม่อาจแบ่งแยกเนื้องานได้อย่างชัดเจนประกอบกับ

ข้อสัญญาในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระบุการจ่ายค่าจ้างเป็นรายงวดของงานที่ทำเสร็จให้แก่ผู้รับจ้างคิดเป็นมูลค่ารวมมิได้แบ่งแยกแต่อย่างใด

ดังนั้น คณะบุคคลทั้งหกคณะดังกล่าวจึงต้องเสียภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคลเพียงคณะเดียวหรือในนามห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล และเนื่องจากการรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเป็นการให้บริการที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าวจึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จากมูลค่างานทั้งหมดนั้นด้วย ทำให้คณะบุคคลดังกล่าวต้องรับผิดเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ตามแนววินิจฉัยของกรมสรรพากรที่ กค 0706/10581 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2550

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=72136&NewsType=2&Template=1


ภาษีคณะบุคคล
วันจันทร์ ที่ 03 สิงหาคม 2552 เวลา 0:00 น
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=470&contentID=11750

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลขึ้น เพื่อประกอบกิจการอื่นนอกจากวิชาชีพอิสระว่าจะกระทำได้หรือไม่ เพียงไร เพราะสิทธิในการประกอบอาชีพบางประเภทนั้นต้องใช้ใบอนุญาตอันเป็นสิทธิเฉพาะตัว (สิทธิติดตัว)

ซึ่งได้มีความเห็นในเบื้องต้นไปแล้วว่า สิทธิดังกล่าวย่อมไม่อาจโอนไปยังห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลได้เลย เพราะห้างหรือคณะฯ มิใช่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาต หากเป็นแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลเท่านั้นที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการดังกล่าว มาพิจารณาถึงการประกอบอาชีพที่มีลักษณะทำนองเดียวกับวิชาชีพอิสระเป็นรายอาชีพกันเลยครับ

อันดับแรก ขอกล่าวถึงการประกอบอาชีพเป็นตัวแทนนายหน้าประกันภัย ทั้งกรณีประกันชีวิต และประกันวินาศภัย อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบอาชีพนี้มีมาตรฐานในการประกอบอาชีพที่ดีและเป็นระเบียบแบบแผน กล่าวคือต้องเป็นผู้ผ่านการทดสอบ และได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนจึงจะประกอบอาชีพได้ ในวงการขายประกันจึงไม่มีการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเพื่อประกอบอาชีพ หรือ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี

อันดับสอง การประกอบอาชีพสอนหนังสือหรือเป็นผู้บรรยายรายบุคคล มิใช่การสอนหนังสือหรือบรรยายเป็นหมู่คณะ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร วิทยากรหรือผู้บรรยายคนหนึ่งคนใดจะจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลขึ้นมาเพื่อรับงานสอนนั้น เห็นว่ากระทำไม่ได้ เพราะผู้สอนหรือผู้บรรยายกับกิจการห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลแยกต่างหากจากกันโดยสิ้นเชิง แต่ห้างหรือคณะฯ อาจเป็นผู้รับงานสอนมาแล้วจ้างวิทยากรหรือผู้บรรยายอีกทอดหนึ่งต่างหาก ก็ย่อมเป็นสิทธิที่กระทำได้

อันดับสาม การเป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีนี้ ตามหลักกฎหมายผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนต้องเป็นบุคคล อันได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเท่านั้น แต่สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลไม่มีสถานภาพเป็นบุคคลจึงไม่อาจถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ ดังนั้น การแยกหน่วยภาษีด้วยการเข้าไปถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในกิจการดังกล่าว โดยห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลจึงไม่อาจกระทำได้

อันดับสี่ การประกอบอาชีพนักแสดงสาธารณะที่เป็นส่วนบุคคล โดยมิได้ทำการแสดงเป็นหมู่หรือคณะ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ก็จะคล้ายกับกรณีที่สองการเป็นผู้บรรยายหรือวิทยากรหรือผู้สอนนั่นเองครับ จึงไม่ขอกล่าวในรายละเอียด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น